ขับเคลื่อนโดย Blogger.
RSS

หน้าที่พลเมือง ต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีไทย

หน้าที่พลเมือง ต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีไทย

     วัฒนธรรมไทยประเพณีไทย เป็นสิ่งมีคุณค่าที่ควรธำรงรักษาไว้เป็นมรดกสืบไป จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรหลักของประเทศ  และคนไทยทุกคนที่ต้องส่งเสริมและธำรงรักษาไว้ 
   วัฒนธรรมไทย หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่คนไทยกำหนดหรือสร้างขึ้นหรือยอมรับเข้ามาเพื่อช่วยแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของสมาชิกในสังคมไทย ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้มีการสืบทอดแพร่หลาย และมีการปรับปรุงพัฒนาต่อๆ กันมาเพื่อให้มีความเหมาะสมกับกาลสมัย สิ่งใดไม่เหมาะสมกับกาลสมัยก็จะเสื่อมความนิยมไป จึงกลายเป็นสภาพวัฒนธรรมในอดีต สำหรับสิ่งที่กำหนดหรือสร้างขึ้นมานานแล้วและคลี่คลายไปในรูปแบบต่างๆ ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่คนไทยยังใช้ในการแก้ปัญหา และตอบสนองความต้องการอยู่ จึงนับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

 วัฒนธรรมประเพณีไทย

   วัฒนธรรมในความหมายกว้างๆ หมายถึงวิถีของสังคมหรือวิถีประชา คือมรดกแห่งสังคม ยอมรับและรักษาไว้ให้เจริญงอกงามสืบต่อมา และวัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือสร้างขึ้นเพื่อความเจริญในวิถีชีวิตของส่วนรวม กล่าวโดยสรุป วัฒนธรรมไทยคือทุกสิ่งทุกอย่างที่หล่อหลอมขึ้นเป็นสังคมไทย สมาชิกในสังคมนี้มีลักษณะความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ รวมทั้งอุดมคติร่วมกันซึ่งเรียกว่า ประเพรีไทย หรือเอกลักษณ์ไทย
  
   ที่มาของวัฒนธรรมไทยประเพณีเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า สิ่งแวดล้อม ค่านิยม และการแพร่กระจายวัฒนธรรม และอารยธรรมของชาติอื่น เป็นที่มาของวัฒนธรรมและอารยธรรม วัฒนธรรมไทยมีที่มาจากปัจจัย   ต่าง ๆ ดังกล่าวเช่นกัน  

    สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่ม     แม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ คนไทยจึงดำเนินชีวิตอย่างสุขสมบูรณ์ โดยอาศัยประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดิน และแม่น้ำลำคลองที่มีอยู่ทั่วไปในการประกอบอาชีพทางการเกษตร อาศัยน้ำในแม่น้ำลำคลองในการอาบ กิน คมนาคม ฯลฯ คนไทยจึงตระหนักในความสำคัญของแม่น้ำลำคลอง ดังนั้นในฤดูกาลที่แม่น้ำ       ลำคลองมีน้ำหลาก (ระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน) คนไทยจึงประดิษฐ์กระทง ซึ่งบรรจุดอกไม้ ธูปเทียน ไปลอยในแม่น้ำลำคลองต่างๆ เพื่อเป็นการขอขมา ขอบคุณ และขอพรจากแม่น้ำ ในที่สุดก็กลายเป็นประเพณีลอยกระทงในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี นอกจากนั้นยังมีประเพณีการแข่งเรือ เล่นสักวา และอื่นๆ ฯลฯ

   ระบบเกษตรกรรม สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชากรประมาณร้อยละ 80 ประกอบอาชีพทางการเกษตร ระบบเกษตรนี้เองที่มาของวัฒนธรรมหลายประเภท เช่น ประเพณีการลงแขกดำนา เกี่ยวข้าว ประเพณีการขอฝน การเล่นจำพวกเพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงชางชัก การเล่นเชิญผี    แม่ศรีแม่โพสพ ประเพณีทำบุญทุ่ง ประเพณีวิ่งควาย การแข่งวัวลาน ฯลฯ

   ค่านิยม ค่านิยมมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด ค่านิยมบางอย่างได้กลายเป็นแกนของวัฒนธรรม เช่น ค่านิยมเกี่ยวกับการรักอิสรภาพและเสรีภาพ เราจะสังเกตเห็นว่าวิธีการดำเนินชีวิตของคนไทยโดยส่วนรวมมีเอกลักษณ์ซึ่งแสดงออกถึงอิสรภาพและเสรีภาพ ค่านิยมเกี่ยวกับความสุภาพ อ่อนโยน ความโอบอ้อมอารี การเคารพผู้ใหญ่ และความกตัญญู ล้วนแสดงให้ปรากฏในเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย

   การที่ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้านั้น ขึ้นอยู่กับทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ และการดำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติ  คือการรักษาวัฒนธรรมประเพณี ขนบธรรมเนียมต่างๆ  เพราะสิ่งเหล่านั้นนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่หล่อหลอมให้คนในชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ความเป็นชาติที่จะดำรงอยู่ได้นั้นจึงต้องมีเอกลักษณ์ และสิ่งที่สำคัญก็คือเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น